สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือหนอนหน้าๆ จะกัดเข้าทำลายใบปาล์มน้ำมัน หนอนวัยเล็กจะกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจะกัดกินจนใบขาด ถ้าระบาดรุนแรงใบจะถูกกัดจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ผลผลิตลดลง ต้นชะงักการเจริญเติบโต และใช้เวลานานกว่าที่ต้นจะฟื้นตัว ถ้าเกิดการระบาดในแต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการกำจัดนาน เนื่องจากหนอนหน้าแมวมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน เช่น ระยะหนอนและระยะดักแด้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดให้หมดในเวลาเดียวกันได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. การใช้วิธีกล
1.1 ตัดใบย่อยที่มีหนอนหน้าแมว หรือจับผีเสื้อ ซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบปาล์มน้ำมัน หรือเก็บดักแด้ตามใบ และซอกโคนทางใบรอบต้นมาทำลาย
1.2 ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้แสงไฟ black light หรือ หลอดนีออนธรรมดา วางบนกะละมังพลาสติก ซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอก ให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร วางล่อผีเสื้อช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ซึ่งสามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้
2. การใช้ชีววิธี
พ่นแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถทำลายกลุ่มหนอนผีเสื้อทำลายปาล์มน้ำมัน และไม่เป็นอันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์
3. การใช้สารเคมี
เริ่มพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบหนอนหน้าแมวเข้าทำลายบริเวณผิวใบ เฉลี่ย 20 ตัวต่อทางใบ สารฆ่าแมลงที่ใช้ ได้แก่
เดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ อีโทเฟนพร็อกซ์ 20% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ ฟลูเบนไดไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ ลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
4. การใช้วิธีผสมผสาน
4.1 การใช้กับดักแสงไฟล่อผีเสื้อในช่วงที่ดักแด้กำลังออกเป็นผีเสื้อ สลับกับการใช้สารฆ่าแมลงหรือเชื้อแบคทีเรีย ในช่วงเป็นหนอนวัยเล็ก
4.2 การใช้เชื้อแบคทีเรียสลับกับการใช้สารฆ่าแมลง
ที่มา: เพจสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร