เกษตรยะลา ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เเละเเมลงดำหนามมะพร้าว

    วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายกัสมัน ยะมาแล เกษตรจังหวัดยะลา มอบหมายให้นายอารีฟ มหัศนียนนท์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และนางสาวนิรุสลินดา มะเต๊ะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จัดรายการ “แหลงหรอยหรอยกับสำนักงานเกษตรยะลา อินเทรนด์” ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา FM 94.25 MHz. ซึ่งออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 11.10 – 12.00 น. และสามารถรับชมรายการสด (Live สด) หรือรับชมย้อนหลังผ่านทาง Facebook 94.25 คลื่นมหาชน คนชายแดนใต้ โดยมีประเด็นสร้างการรับรู้ในเรื่อง การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว เเละเเมลงดำหนามมะพร้าว ลักษณะการเข้าทำลาย รวมถึงการเลือกใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM)
    🚩หนอนหัวดำมะพร้าวจะเข้าทำลายใบเฉพาะระยะตัวหนอน โดยตัวหนอนจะแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ จากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ ทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรง (มะพร้าวมีใบเขียวสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยทำลาย 5-0 ทางใบ) จะทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าว และอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้ แนวทางป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ควรใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) ดังนี้ 1) วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด 2) การพ่นด้วยชีวภัณฑ์ บีที ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช 3) การใช้แตนเบียนควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว โดยปล่อยตัวเต็มวัย อัตรา 50 – 100 ตัวต่อไร่ ปล่อย 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน 4) การควบคุมด้วยสารเคมีโดยวิธีฉีดเข้าลำต้น เป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่พบหนอนหัวดำระบาดรุนแรง ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีลำต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร
    🚩แมลงดำหนามมะพร้าว ทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะซ่อนตัวในใบอ่อนและกัดกินยอดอ่อนโดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากถูกทำลายรุนแรงติดต่อกัน ทำให้ใบแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล มองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน แนวทางป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าว แนะนำให้ใช้วิธีการกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ดังนี้ 1) สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 2) ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกิน เก็บไข่ หนอน และตัวเต็มวัยไปทำลาย 3) ปล่อยแมลงหางหนีบทำลายไข่ หนอน และดักแด้ของแมลงดำหนามมะพร้าว อัตรา 300 ต่อไร่ 4) ปล่อยแตนเบียนหนอนอะซีโคเดส อัตรา 5-10 มัมมี่ต่อไร่ ปล่อย 3-5 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ต่อครั้ง 5) ใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม พ่นกำจัดหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนาม อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
     ทั้งนี้ ได้มีการประสัมพันธ์กิจกรรมการให้บริการทางเกษตรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) อำเภอกรงปินัง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 6 ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา 2) การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) อำเภอเบตง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศพก. เครือข่าย ทุเรียนมูซังคิง (สวนศักดิ์ศรี) หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 3) งานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ในวันพฤหัสที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 5 ตำบลธารโต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*